วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

#อย่าบอกเป็นไปไม่ได้




Jack Ma ผู้เชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งไหนเป็นไปไม่ได้

 จากคนไม่มีงานทำและล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนสู่เจ้าของ Alibaba แสนล้าน


สองปีที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สุดในวงธุรกิจของสหรัฐฯ ก็คือ เรื่องราวความสำเร็จของมหาเศรษฐีชาวจีน “แจ็ค หม่า”(Jack Ma)หรือชื่อจีนว่า หม่าหยุนซึ่งสร้างประวัติศาสตร์นำบริษัท E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในจีน (และโลก) อย่าง Alibabaเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก ทุบสถิติ IPO มูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ หุ้นเปิดตัวของอาลีบาบาเฉลี่ยที่ 68 ดอลลาร์ต่อหุ้นระดมทุนให้กับบริษัทได้ถึง 22,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 700,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ในการซื้อขายอย่างเป็นทางการวันแรกราคาหุ้นยังพุ่งขึ้นไปเกือบ 40% ในวันเดียว ปิดซื้อขายที่ราคา 93.89 ดอลลาร์





ทุกสายตาจึงร่วมทึ่งไปกับความสำเร็จของ Alibaba ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานในประเทศจีนมากกว่า 20,000 คน มียอดขายผ่านเว็บไซต์คิดเป็นมูลค่า 240,000 ล้านดอลลาร์ ต่อปี คิดเป็นสองเท่าของยอดขายของ Amazon และสามเท่าของยอดขายของ EBAY ในสหรัฐอเมริกา โดยเว็บไซต์ในเครือ Alibaba มีผู้ใช้งานประมาณ 231 ล้านคนยึดส่วนแบ่งการตลาด 80% ของ E-Commerce ในจีน นักวิเคราะห์มองว่าอนาคตของบริษัทยังไปได้อีกไกล เพราะยังมีชาวจีนอีกหลายร้อยล้านคนที่ยังไม่เคยชอปปิงออนไลน์ มีการประเมินว่าในปี .. 2030 ตลาด E-Commerce ของจีนจะใหญ่กว่าตลาด E-Commerce ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ทั้งหมดรวมกันเสียอีก

แต่เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ตัวแจ็คผู้ก่อตั้ง Alibaba ได้ผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวมามากมาย ดังที่แจ็คเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในชีวิตได้ และแม้เมื่อเริ่มทำธุรกิจแล้ว ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะไปรอด
แจ็คต้องเรียนซ้ำชั้นอนุบาลถึง 7 ปี เพราะมีพัฒนาการช้า พอขึ้นชั้นประถม ก็เป็นเด็กเกเรจนเกือบถูกโรงเรียนไล่ออก เขาเรียนวิทย์คณิตไม่รู้เรื่อง แต่ยังโชคดีที่สนใจภาษาอังกฤษ เพราะเห็นว่าดูเท่ห์ดี ช่วงวัยรุ่น เขาขี่จักรยานจากบ้านไปที่โรงแรมในเมืองเป็นเวลา 45 นาที ทุกวัน เพื่อพูดคุยกับฝรั่งและอาสาพาเที่ยวฟรี โดยหวังว่าจะได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว



พอจบมัธยมปลาย เขาสอบเอ็นทรานซ์ตกสองครั้ง จนครั้งที่สาม จึงสอบเข้าได้เรียนภาษาอังกฤษในวิทยาลัยครูเล็กๆ แห่งหนึ่ง เมื่อจบมา เขาพยายามสมัครทำงาน KFC ซึ่งเพิ่งเข้ามาเปิดกิจการในจีน แต่ได้รับการปฏิเสธ สุดท้ายจึงสอบบรรจุเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยเล็กๆ ในชนบทและค่อยๆ ตั้งบริษัทรับแปลงานเป็นของตัวเองเพื่อเสริมรายได้ มีรายได้เพียง 500-600 บาท ต่อเดือน เท่านั้น

ในปี คศ. 1995 เขารับงานล่ามเดินทางไปสหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายปรากฏว่าถูกหลอก ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง แต่ในระหว่างที่เขาได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดตาที่อเมริกาเป็นครั้งแรกนั้น เขากลับมองเห็นโอกาสทอง ที่ชื่อว่า อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นของที่ยังใหม่มากในขณะนั้น เขาลองเสิร์ชคำว่า “China” ดู ปรากฏว่าไม่มีเว็บเพจอะไรขึ้นมาเลย เพราะในขณะนั้นจีนยังไม่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองเลย

เมื่อเขากลับมาถึงประเทศจีน เขาจึงอยากทำเว็บไซต์ของตัวเองขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้คอมพิวเตอร์แม้แต่นิดเดียว เขาจึงลงทุนใช้เงินเก็บของตัวเองจ้างนักศึกษาคอมพิวเตอร์มาทำเว็บไซต์ China Pages เป็นเหมือนสมุดปกเหลืองออนไลน์ไว้ค้นหารายชื่อต่างๆ ในจีน นับเป็นเว็บไซต์แรกๆ ของจีน แต่กลับปรากฏว่าล้มเหลว ไม่มีคนเข้าใช้สักเท่าไร อินเทอร์เน็ตยังเป็นของใหม่มากในจีนในขณะนั้น


เขาผันตัวเองไปรับราชการในกระทรวงพาณิชย์จนประมาณปี .. 1999 เป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูม เต็มที่ในสหรัฐอเมริกาเขาชวนเพื่อน 17 คน มาทานข้าวที่บ้าน และชวนกันก่อตั้งบริษัทอินเทอร์เน็ต Alibaba โดยเป็นไอเดียของเขาเอง (ขณะนั้นทางฝรั่งเองก็ยังไม่มีเว็บไซต์ลักษณะนี้) แจ็คคิดว่าน่าจะมีเว็บไซต์ที่เปิดให้ผู้ผลิตสามารถนำสินค้าของตัวเองไปโพสต์ไว้ได้ ให้ผู้ค้าเล็กๆ สามารถสั่งซื้อจากเว็บไซต์ได้โดยตรง ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง และตัดปัญหาผู้ค้าต้องคอยเที่ยวเสาะหาผู้ผลิตตามโรงงานหรือเทรดแฟร์ต่างๆปรากฏว่าเพื่อน 16 คน ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่บอกว่าแจ็คไม่มีความรู้คอมพิวเตอร์เลย จะทำสำเร็จได้อย่างไร อีก 1 คน ที่เหลือ บอกว่า ดูท่าจะยาก แต่ถ้าเอ็งอยากทำมาก ก็ลองดูสิ ล้มเหลวอีกสักครั้งก็ค่อยกลับมารับราชการใหม่ (ไม่รู้ว่าให้กำลังใจหรือประชดประชันกันแน่)




แจ็คตั้งเป้าตั้งแต่วันแรกว่า Alibaba จะต้องเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตของโลก ไม่ใช่เฉพาะของประเทศจีนเท่านั้น เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นโลกใหม่ที่ไร้พรมแดน และยังจะต้องเป็นบริษัทที่ช่วยตอบโจทย์สังคม คือช่วยผู้ค้ารายย่อยให้เข้าถึงสินค้าและวัตถุดิบราคาถูก ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลางทิ้งไป


เขาเริ่มขยายบริษัทอย่างเร่งรีบ โดยตั้งสำนักงานที่สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ จนเกือบต้องล้มเหลวอีกครั้งเพราะบริษัทมีแต่ค่าใช้จ่าย แต่รายได้กลับมีเข้ามาน้อยมาก เพราะเว็บไซต์ไม่ได้เก็บเงินผู้ผลิตที่มาโพสต์ เนื่องจากหากเก็บเงิน ก็จะไม่มีผู้ผลิตเข้ามาใช้บริการ สุดท้ายแจ็คตัดสินใจปิดสำนักงานที่สหรัฐอเมริกาและทั่วโลก เพื่อกลับมาทำธุรกิจภายในประเทศจีนให้แข็งแกร่งเสียก่อน


ต้องรอถึง 5 ปีหลังจากที่ก่อตั้งบริษัท Alibaba จึงสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกโดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าโฆษณา ซึ่งเมื่อเว็บไซต์มีผู้เข้าใช้งานจำนวนมากแล้ว ผู้ผลิตจึงยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้เสิร์ชถึงชื่อบริษัทตัวเองได้ง่ายขึ้นขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดีนั้น ในปี .. 2003 ยักษ์ใหญ่อย่าง eBay ก็ประกาศบุกตลาด E-Commerce ในจีน จน Alibaba เกือบจะต้องล้มอีกครั้งแจ็คต้องตั้งทีมงานเล็กๆ เพื่อทำเว็บไซต์ Taobaoให้ประชาชนทั่วไปมาโพสต์ขายของได้ โดยประกาศให้โพสต์ฟรี 3 ปีแรก และต่อมาก็ประกาศไม่คิดเงินอย่างถาวร (ขณะที่ eBay เก็บเงิน) ผลคือจากเดิมที่ eBay ประสบความสำเร็จสูงมากในจีน สามารถครองตลาดถึง 85% กลับค่อยๆ มีส่วนแบ่งการตลาดลดลงเรื่อยๆ จนต้องปิดเว็บไซต์จีนไปในที่สุดในปี .. 2006 

หลังจากผ่านความล้มเหลว ลองผิดลองถูกมามากมาย ปัจจุบัน Alibaba เป็นผู้ทำธุรกิจ E-Commerce ครบวงจร โดยมีเว็บไซต์หลัก 3 แห่ง ได้แก่ alibaba.com บริการอีคอมเมิร์ซแบบ B2B (Business to Business) สำหรับผู้ผลิตสินค้าในจีนกับผู้ซื้อจากทั่วโลก taobao.com อีคอมเมิร์ซแบบ C2C (Customer to Customer) ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้ซื้อและผู้ค้านับตั้งแต่รายย่อยรายใหญ่กว่า 7 ล้านรายมีสินค้ากว่า 800 ล้านรายการและ tmall.com บริการแบบ B2C (Business to Customer) เพื่อให้แบรนด์สินค้ากว่า 70,000 รายขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรงส่วนการชำระเงินนั้น ก็ใช้ระบบพิเศษของบริษัท เรียกว่า อาลีเพย์ (alipay.com) ซึ่งเงินจะถูกเก็บไว้ที่บริษัทตัวกลางก่อนที่จะโอนไปให้ผู้ขายต่อเมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าและตรวจสอบคุณภาพสินค้าแล้วเท่านั้น

แจ็คพูดเสมอว่า ไม่มีสิ่งไหนที่เป็นไปไม่ได้และความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของตัวเขาและ Alibaba ปรัชญาสำคัญคือต้องปรับตัวและตื่นตัวกับสถานการณ์จริงและสนามแข่งขันจริงเสมอ ไม่ยึดตำราหรือลอกเลียนโมเดลทางธุรกิจของใคร การเรียนรู้จากความล้มเหลวและเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งไหนที่เป็นไปไม่ได้นี่แหละที่ทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีนได้ในวันนี้


bangkokbiznews




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น